ใครอยากขายรถติดไฟแนนซ์ ยังผ่อนไม่หมด ฟังทางนี้

ด้วยพิษเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่ส่งผลกระทบไปทั่วทุกระบบ อาจทำให้สภาพคล่องทางการเงินของใครหลายคนต้องสะดุด ชักหน้าไม่ถึงหลัง ของบางอย่างที่ผ่อนอยู่จะกระทบกระเทือนไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งใครที่กำลังผ่อนรถอยู่ กับสถาบันการเงินต่าง ๆ อาจจะไม่มีเงินมาส่งค่างวดได้แต่ละเดือนได้ จนจำเป็นต้องขายรถ เพื่อให้หมดภาระ แต่ว่าการขายรถที่ยังผ่อนไม่หมด หรือที่เราเรียกว่า รถติดไฟแนนซ์ สามารถขายได้หรือไม่ ดังนั้นวันนี้เรามีวิธีการขายรถแบบถูกต้องและปลอดภัยมาบอก ส่วนจะเป็นอย่างไรมีขั้นตอนแบบไหนบ้างไปดูกันเลย

ขายรถติดไฟแนนซ์ ผิดกฎหมายหรือไม่?

สำหรับผู้ใช้รถ การขายรถยนต์ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าในขณะนั้นรถของคุณยังอยู่ในไฟแนนซ์ หรือที่เรียกว่า ยังผ่อนไม่หมด แต่อยากจะขาย เลยเกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่า ขายรถติดไฟแนนซ์ผิดกฎหมายหรือไม่ ต้องขอชี้แจ้งก่อนว่า รถยนต์ที่ติดสถานะไฟแนนซ์ ยังไม่ใช้รถของเจ้าของเอง 100% ซึ่งไม่สามารถนำไปขายต่อได้ เพราะคุณจะอยู่ในสถานะเป็นเพียงผู้เช่าซื้อเท่านั้น กรรมสิทธิ์ของตัวรถยังคงเป็นของไฟแนนซ์จนกว่าจะผ่อนหมด หรือครบทุกงวด แต่สามารถขายได้ถ้าคุณทำให้ถูกวิธี และถูกต้อง

แต่ถ้าทำการขายรถขณะติดไฟแนนซ์ให้กันคนอื่นโดยพลการ อาจเข้าข่ายความผิดยักยอกทรัพย์ ถือว่าผิดกฎหมายทั้งทางแพ่ง และอาญา และผู้ที่ซื้อรถต่อก็จะมีความผิดด้วยเช่นกัน หากเจ้าของรถนำรถที่ยังผ่อนไม่หมดไปขายทอดตลาดหรือเปลี่ยนมือโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางบริษัทไฟแนนซ์ จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ขายรถติดไฟแนนซ์ ต้องทําอย่างไร ?

หากรถติดไฟแนนซ์ของสถาบันทางการเงินไหนก็ตาม เจ้าของรถจะ ไม่มีสิทธิ์ นำไปขายทอดตลาดได้ไม่ว่าจะวิธีไหน แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นพิษเศรษฐกิจ ขาดสภาพคล่อง หากเจ้าของรถไม่ต้องการให้รถถูกยึด และยังคงสถานะเป็นเจ้าของรถอยู่ จะต้องเจรจาขอผ่อนปรนสัญญาเช่าซื้อกับทางไฟแนนซ์ โดยควรทำการปรึกษาทางไฟแนนซ์ ก่อนที่จะค้างชำระถึง 3 งวดติดต่อกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม และไม่เกิดปัญหาในภายหลัง

แต่ถ้าหากคิดว่าผ่อนไม่ไหว รวมถึงไม่อยากเก็บรถไว้เพื่อเป็นภาระ ก็ควรหาทางขายรถออกไปโดยมีการเปลี่ยนสัญญากับไฟแนนซ์ให้ถูกต้อง ซึ่งจะมีวิธีการดังต่อไปนี้

1. จ่ายเงินสดปิดไฟแนนซ์ก่อนขายรถ วิธีนี้เป็นวิธีที่ถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยการจ่ายเงินก้อนที่เหลือเพื่อปิดไฟแนนซ์ ซึ่งจะทำให้คุณกลายเป็นเจ้าของรถอย่าง 100% และสามารถนำรถไปใช้ต่อ หรือขายทอดตลาดได้ นอกจากนั้นยังมีข้อดี ตรงที่ได้ส่วนลดค่าดอกเบี้ย จากทางบริษัทไฟแนนซ์ด้วย

2. ขายดาวน์ให้กับผู้อื่น หากไม่สามารถหาเงินสดก้อนใหญ่มาปิดไฟแนนซ์ การขายดาวน์รถ ก็เป็นอีกทางเลือกที่นิยมใช้กันมาก แต่ขั้นตอนจะมีความยุ่งยากกว่าวิธีแรก เพราะจะต้องหาผู้ซื้อที่ยอมรับเงื่อนไขการขายดาวน์ รวมถึงจะต้องมีเงินก้อนมาปิดบัญชีไฟแนนซ์แทนเรา ถ้าตกลงกันได้กรรมสิทธิ์ต่าง ๆ ก็จะตกเป็นของผู้ที่มาซื้อรถต่อจากเราทันที ซึ่งหากเราตั้งราคาขายไว้สูง ก็อาจจะได้ส่วนต่างที่เหลือเก็บเข้ากระเป๋า

3. ขายดาวน์รถแบบเปลี่ยนมือผู้ถือสัญญา หากผู้ขายรถได้จ่ายค่างวดไปบางส่วนแล้ว ขณะเดียวกันผู้ซื้อรถคนใหม่ยังคงมีความจำเป็นต้องผ่อนงวดรถในส่วนที่เหลือเนื่องจากไม่สามารถปิดยอดทั้งหมดได้ ผู้ขายสามารถพาผู้ซื้อไปติดต่อที่บริษัทไฟแนนซ์ เพื่อทำการเปลี่ยนสัญญาให้ผู้ซื้อคนใหม่รับหน้าที่ผ่อนต่อ ซึ่งทางบริษัทไฟแนนซ์เองจะต้องพิจารณาถึงความสามารถในการผ่อนจ่ายของผู้ซื้อต่อด้วย ว่าจะสามารถผ่อนยอดต่อได้หรือไม่

4. ขายผ่านเต็นท์มือสอง ในกรณีที่ผู้ขายรถต้องการรีบขายด่วน แต่ไม่สามารถหาผู้ซื้อได้ การขายผ่านเต๊นท์รถมือสองก็เป็นอีกทางเลือกที่รวดเร็ว โดยทางเต๊นท์สามารถทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับทางไฟแนนซ์ได้โดยตรง และสามารถจ่ายปิดไฟแนนซ์ได้ทันที แต่จะมีข้อเสียตรงที่อาจจะโดนทางเต๊นท์รถกดราคาของตัวรถต่ำกว่าราคากลางตามท้องตลาด และยิ่งถ้าเป็นรถที่ไม่ได้รับความนิยมก็จะถูกลงไปอีกหรือบางที่อาจจะกลายเป็นการรับฝากขายแทนด้วยซ้ำไป

ถือได้ว่าคลายความกังวลไม่น้อย สำหรับการขายรถยนต์ที่ติดไฟแนนซ์ ถึงแม้จะดูยุ่งยากแต่ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้ แม้วิธีการดังกล่าวจะมีความซับซ้อน และต้องใช้เวลา แต่อย่างน้อยแม้รถคู่ใจจะอยู่ในมือคนอื่น ก็ทำให้คุณไม่เสียประวัติ และได้เงินก้อนจำนวนหนึ่งมาช่วยเยียวยาและสร้างความหวังเพื่อเริ่มต้นเก็บเงินสร้างอนาคตใหม่ได้อีกครั้ง