วันนี้เราจะพามาดูกันว่า ค้างค่างวดรถได้กี่วันนกี่เดือน จึงจะไม่ถูกไฟแนนซ์ตามยึดรถ การผิดนัดชำระเพียงไม่กี่วัน จนกระทั่งไฟแนนซ์ต้องโทรมาทวงถาม กรณีนี้ไม่มีการยึดรถอย่างแน่นอน และจะไม่ทำให้เกิดประวัติค้างชำระกับเครดิตบูโรด้วย แต่อาจเกิดค่าทวงถามและค่าปรับล่าช้าตามมา ทางที่ดีควรรีบชำระภายในวันที่กำหนด หรืออย่างช้าไม่เกิน 2-3 วันเพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับดังกล่าวนั่นเอง
ผู้กู้ซื้อรถยนต์ทุกคนก็ต้องทำการจ่ายค่างวดรถให้ตรงตามเวลาที่กำหนดเอาไว้ เพื่อรักษาเครดิตการจ่ายหนี้เอาไว้ให้คงที่และดีตลอดไป แต่ถ้าอยู่มาวันหนึ่งสภาพคล่องทางการเงินเกิดติดขัดจนไม่สามารถจ่ายค่างวดรถได้ตรงเวลา คุณสามารถจ่ายค่างวดรถช้าได้นานสุด 90 วัน หรือ 3 เดือน หรือ 3 งวด และจะมีการติดตามทวงถามหนี้เพิ่มเติมอีก 30 วัน สรุปง่าย ๆ คือ คุณมีระยะเวลาในการเคลียร์หนี้ทั้งหมด 4 เดือน หากพ้นจากนั้นไฟแนนซ์มีสิทธิ์ยึดรถได้ตามกฎหมายทันที
กรณีมีการยึดรถก่อนกำหนดดังกล่าว จะถือว่าเข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 รวมถึงถ้ามีการข่มขู่ บังคับให้ลูกหนี้ลงจากรถ กระชากกุญแจ หรือการนำกุญแจสำรองมาไขโดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ จะถือเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 โดยหากเป็นการร่วมกระทำผิดเกินกว่า 5 คน จะได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณีไฟแนนซ์ยึดรถไปเรียบร้อยแล้ว รถคันดังกล่าวจะถูกดำเนินการขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาปิดยอดหนี้ที่เหลือ ซึ่งโดยมากแล้วจะถูกขายในราคาต่ำกว่าราคาตลาดที่แท้จริงมาก หากว่ายังคงมีหนี้เหลืออยู่ ไฟแนนซ์จะกลับมาทวงถามค่าส่วนต่าง รวมถึงเรียกเก็บค่าดำเนินการที่เกิดขึ้นในภายหลังอีกด้วย เรียกว่าโชคร้ายสองเด้งเพราะรถไม่มีใช้ แถมยังถูกเรียกเก็บหนี้ส่วนที่เหลืออีกต่อ แต่หากยังไม่สามารถชำระได้อีก ทางไฟแนนซ์ก็จะดำเนินการฟ้องร้องต่อไป
ดังนั้น ลูกหนี้ไม่ควรปล่อยให้ไฟแนนซ์ดำเนินการยึดรถอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ลูกหนี้หมดอำนาจในการเจรจาต่อรองค่างวดที่ค้างชำระทันที
ส่วนทางออกในกรณีไม่สามารถชำระหนี้ได้จริงๆ ก็มีหลายวิธีขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละคน เช่น การขอเจรจาปรับโครงสร้างหนี้, การเปลี่ยนสัญญาเพื่อยกรถให้ผู้อื่นผ่อนต่อ หรือการขอรีไฟแนนซ์ ก็อาจจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาลงได้