ใครใช้อยู่ดูด่วน ยึดยาจุดกันยุง 2 ยี่ห้อ ผสมสารเคมีอันตราย สูดดมควันจะอาเจียน ชักหมดสติ

วันที่ 22 ก.ย.66 ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.4 บก.ปคบ. นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงผลตรวจค้นโรงงานผลิตยาจุดกันยุงเถื่อน และจุดกระจายสินค้าอีก 3 จังหวัด ยึดของกลางที่มีสารเคมีอันตราย 227,000 กล่อง มูลค่า 4,540,000 บาท

พล.ต.ต.อนันต์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ อย.ตรวจสอบพบยาจุดกันยุงจีน 2 ยี่ห้อ ไม่มีสลากภาษาไทย ไม่มีเลขผลิตภัณฑ์ ถูกนำมาวางจำหน่ายตามสื่อโซเชียลและตามร้านค้าขายปลีก บางยี่ห้อหน้ากล่องเป็นรูปเด็กอ่อนทำให้ประชาชนหลงผิดคิดว่าไม่มีสารเคมีอันตราย อีกทั้งยังราคาถูกกว่าท้องตลาด จนเป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไปที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงว่ามีสารเคมีวัตถุอันตรายที่เป็นส่วนผสม

พล.ต.ต.อนันต์ กล่าวต่อว่า จากตรวจสอบของกลางพบมีสารเคมีในกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethriods) เมเพอร์ฟลูทริน (Meperfluthrin) และไดมีฟลูทริน (Dimefluthrin) ซึ่งมีพิษต่อคนและสัตว์ หากสูดดมควันในปริมาณมาก อาจทำให้รู้สึกมึนงง ปวดศีรษะ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก อ่อนเพลีย ชัก หรือหมดสติได้ จึงร่วมกันสืบสวนก่อนเข้าตรวจค้นโรงงานผลิตในสมุทรสาคร และที่จุดกระจายสินค้าอีก 3 จังหวัด ประกอบด้วย ชัยนาท อ่างทอง และสุพรรณบุรี

สอบสวนเจ้าของโรงงานให้การว่า สั่งซื้อยาจุดกันยุงชนิดขดสีดำจากประเทศจีน นำเข้ามาเพื่ออบสารเคมีที่ใช้ไล่ยุงจริง โดยสารเคมีที่ใช้อบยาจุดกันยุงไม่ได้ขออนุญาตนำเข้า และผลิตเพื่อจำหน่าย ก่อนนำมาบรรจุในกล่องผลิตภัณฑ์ส่งขายให้ร้านค้าต่างๆ ทั่วประเทศ

ส่วนเจ้าของร้านค้าส่งทั้ง 3 ร้าน ยอมรับว่าซื้อมาจากชาวจีนและคนไทย ไม่ทราบชื่อสกุลจริง ราคากล่องละ 12 บาท นำมาขายกล่องละ 18 – 20 บาท จึงตรวจยึดของกลางส่งตรวจสอบ ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ก่อนพิจารณาแจ้งข้อหาต่อโรงงานผู้ผลิต ข้อหาครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต และผลิตวัตถุอันตรายที่มิได้ขึ้นทะเบียน ส่วน 3 ร้านค้าก็จะพิจารณา แจ้งข้อหาฐานครอบครองวัตถุอันตราย ต่อไป