การเลี้ยงสัตว์ จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบ ทำให้มีการออกกฎหมายเพื่อควบคุมการดูแลสัตว์เลี้ยงไม่ให้เป็นภาระและสร้างปัญหาในสังคม
ล่าสุด เพจThe Hope Thailandได้แชร์เรื่องราวสุดสะเทือนใจ เมื่อ สุนัขตัวหนึ่ง ถูกขังอยู่ในตึกร้างมานานนับ 10 ปี ได้ความช่วยเหลือจากอาคารข้างเคียงทำให้ยังอยู่มาได้
โพสต์ดังกล่าวได้เล่าเรื่องราว และวิธีการช่วยเหลือ สุนัขตัวนี้ให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน โพสต์ระบุว่า ” ขอให้หนูใช้เวลาชีวิตที่เหลือให้มีความสุขที่สุดนะลูก…..”นวมินทร์” ปิดตำนานหมาติดตึกร้าง 10 ปี… ไม่เคยเห็นเดือนเห็นตะวัน ถูกขังไว้รอวันตาย !! @นวมินทร์ 24
โดย The Hope Thailand ได้รับการร้องขอความช่วยเหลือเรื่องหมาถูกขังในตึกร้างโดยเจ้าของไม่เคยกลับมาให้อาหารเลยนับสิบปี ยังชีพด้วยอาหารที่น้องๆ ศูนย์ฮอนด้า พยายามสอดเข้าไปให้ที่ใต้ประตูเหล็กล็อคแน่น..!
จึงได้ลงพื้นที่พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองสวัสดิภาพสัตว์ปศุสัตว์ สำนักงานเขตบึงกุ่ม สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร และได้ประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน. บึงกุ่ม เข้ามาร่วมเป็นพยานในการช่วยเหลือครั้งนี้
โดยใช้อำนาจตามมาตรา 25 พระราชบัญญัติการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์บุกเข้าพื้นที่ไปช่วยชีวิตออกมา เมื่อช่วยออกมาได้พบว่าสุนัขเป็นสุนัขสูงอายุ สุขภาพปานกลาง และมีประชาชนติดต่อขอรับอุปการะแล้ว อยู่ย่านตลิ่งชัน
จึงได้นำส่งไปยังบ้านที่ขอรับอุปการะพร้อมตรวจสอบความพร้อมทั้งหมด โดยตั้งชื่อน้องหมาตัวนี้ว่า”นวมินทร์”…เป็นสุนัขเพศเมียอายุราว 10 ปี
เมื่อไปถึงบ้านใหม่พบว่าบ้านมีความพร้อมดีเยี่ยม มีรั้วรอบขอบชิด มีบริเวณ และมีเพื่อนหมาอยู่ด้วยหนึ่งตัวเป็นลูกหมา และหลังจากนี้เมื่อน้องปรับตัวได้แล้วก็จะนำไปตรวจเลือดอย่างละเอียดหากพบว่ามีอาการป่วย ทาง The Hope ก็จะช่วยในส่วนของการรักษาต่อไป
ทั้งนี้ The Hope ได้ให้ความรู้ว่า หากพบเห็นการทารุณกรรมสัตว์ โดยที่เจ้าของสถานที่ไม่ยินยอมให้เข้าไป หรือ ติดต่อเจ้าของสถานที่ไม่ได้
สิ่งที่สามารถทำได้ คือ ประสานมูลนิธิหรือองค์กรที่มีความรู้ด้านกฎหมาย แจ้งกองสวัสดิภาพสัตว์สำนักงานปศุสัตว์ ประสานสำนักงานเขตหรือเทศบาลในพื้นที่เพื่อมาร่วมเป็นพยาน
หลังการเข้าช่วยเหลือเสร็จให้ไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจในพื้นที่เพื่อไว้เป็นหลักฐานปกป้องกรณีที่คู่กรณีไม่ประสงค์ดีต้องการดำเนินคดี
การเข้าช่วยจำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติซึ่งหมายถึงเจ้าพนักงานปศุสัตว์ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 25 พระราชบัญญัติการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์เพื่อเข้าช่วยชีวิตสัตว์ในกรณีวิกฤตได้ !!
ส่วนการขัดขวางการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งมีโทษอาญา และหากพิสูจน์เจตนาในการขัดขวางได้ก็อาจจะเข้าในส่วนของทารุณกรรมสัตว์อีกคดีหนึ่ง