ผู้โดยสารเล่านาทีปาฏิหาริย์ 379 ชีวิตรอดตายยกลำ เผยแค่ 5 นาทีออกจากเครื่องได้

วันที่ 3 ม.ค.67 สำหรับความคืบหน้าเหตุเครื่องบินแอร์บัส เอ 350 ของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ ชนเข้ากับเครื่องบินของหน่วยยามชายฝั่งญี่ปุ่น จนเกิดไฟไหม้รุนแรง ที่ท่าอากาศยานนานาชาติฮาเนดะในกรุงโตเกียวเมื่อค่ำวันที่ 2 ม.ค.

รอยเตอร์ ระบุว่า ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชจากบริษัท แอร์บัส ผู้ผลิตเครื่องบินพาณิชย์ยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส พร้อมหน่วยงานสอบสวนอากาศยานอุบัติเหตุของฝรั่งเศส (บีอีเอ) จะเดินทางมายังญี่ปุ่น

โดยเหตุการณ์นี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 ราย เป็นเจ้าหน้าที่บนเครื่องบินหน่วยยามชายฝั่งที่กำลังออกเดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในจังหวัดนางีตะ ส่วนนักบินบาดเจ็บสาหัส ขณะที่ผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมดบนเที่ยวบิน 516 อพยพออกมาได้อย่างปลอดภัย แต่เครื่องบินถูกไฟเผาวอดทั้งลำ

หน่วยงานสอบสวนอากาศยานอุบัติเหตุของฝรั่งเศสระบุเพิ่มเติมผ่านเอ็กซ์หรือทวิตเตอร์ด้วยว่า เจ้าหน้าที่บีอีเอ 4 นาย และผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชจากแอร์บัสอีก 5 คนจะเดินทางถึงญี่ปุ่นในวันพุธนี้ ทั้งยังเปิดเผยว่าเครื่องบินแอร์บัสที่เกิดเหตุเป็นรุ่นเอ็มเอสเอ็น 538 ส่งให้สายการบินเจแปนแอร์ไลน์เมื่อเดือนพ.ย.2564

บีบีซีรายงานว่า ผู้โดยสารบนเครื่องบินระบุเหตุการณ์ครั้งนี้เหมือนเครื่องบินที่นั่งมาไปชนกับอะไรสักอย่างขณะกำลังลงจอด ก่อนจะรู้สึกถึงความร้อนและควันที่พวยพุ่งขึ้นมาเต็มลำ ก่อนผู้โดยสารต่างแตกตื่นและพยายามหนีจากเครื่องบิน

อเล็กซ์ มาเชอรัส นักวิเคราะห์การบินบอกกับบีบีซีว่า ลูกเรือสามารถเริ่มการอพยพตามที่พวกเขาได้รับการฝึกฝนมาในช่วงไม่กี่นาทีแรกหลังเกิดอุบัติเหตุขึ้น และในช่วง 90 วินาทีแรก ไฟที่ลุกไหม้เกิดขึ้นในพื้นที่เดียว ทำให้พวกเขามีช่วงเวลาสั้นๆ ที่จะพาทุกคนออกไปจากเครื่องบิน

เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งเป็นเพราะเครื่องบินแอร์บัส A350 เป็นหนึ่งในเครื่องบินเชิงพาณิชย์รุ่นแรกๆ ที่ทำจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์คอมโพสิต ซึ่งมีความทนทานต่อการชนในครั้งแรกรวมถึงต่อเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นตามมา

ซาโตชิ ยามาเกะ วัย 59 ปี ผู้โดยสารบนเครื่อง เล่าว่า ในความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ผู้โดยสารใช้เวลาราว 5 นาทีก็สามารถออกจากเครื่องบินได้ จากนั้นในเวลาราว 10-15 นาที ก็เห็นเปลวไฟลามออกไปยังส่วนอื่นๆ ของเครื่องบิน

สึบาสะ ซาวาดะ วัย 28 ปี เล่าว่า การที่รอดตายมาได้ถือเป็นปาฏิหาริย์ แต่เขาก็มีคำถามเช่นกันว่า ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น และไม่มีแผนจะขึ้นเครื่องบินอีกครั้งจนกว่าจะได้รับคำตอบ

ผู้โดยสารอีกรายเล่าว่า การออกจากเครื่องบิน ไม่มีใครถือกระเป๋าลากขึ้นเครื่องของตัวเองออกมา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การอพยพผู้โดยสารออกจากเครื่องบินเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น

ที่มา มติชนออนไลน์