วันที่ 4 เมษายน 2567 มีรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า วันจันทร์ที่ 8 เมษายน 2567 จะเกิด ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ประเทศไทยไม่สามารถสังเกตได้ แนวคราสเต็มดวงจะพาดผ่านบริเวณทวีปอเมริกาเหนือ บริเวณประเทศเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา และแคนาดา เริ่มจากมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังมหาสมุทรแอตแลนติก ตั้งแต่เวลา 22:42 - 03:52 น. (ตามเวลาประเทศไทย) การเกิดคราสครั้งนี้ ดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บดบังนานที่สุด 4 นาที 28 วินาที
#ปรากฏการณ์ สุริยุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก เรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกัน มีดวงจันทร์อยู่ระหว่างดวงอาทิตย์กับโลก เมื่อดวงจันทร์ค่อย ๆ เคลื่อนที่เข้ามาอยู่ในแนวเดียวกับดวงอาทิตย์ สิ่งที่ปรากฏแก่สายตาของผู้สังเกตการณ์ที่อยู่บนโลก คือ แสงสว่างจากดวงอาทิตย์ลดลง รูปร่างของดวงอาทิตย์จะเว้าแหว่งไปบางส่วน หรือถูกบังจนหมดทั้งดวงขึ้นอยู่กับรูปแบบการบัง
ปรากฏการณ์สุริยุปราคาในวันที่ 8 เมษายน 2567 จะเป็นแบบ สุริยุปราคาเต็มดวง เนื่องจากเป็นช่วงที่ดวงจันทร์โคจรมาใกล้โลก ทำให้เราเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ มากพอจะบังดวงอาทิตย์ได้หมด เมื่อวัตถุทั้งสามเรียงตัวกันในแนวเส้นตรง จึงเกิดเป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง นับเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สำคัญมาก ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาชั้นโคโรนาและวิเคราะห์ธาตุองค์ประกอบที่มีอยู่ในบรรยากาศชั้นโครโมสเฟียร์ของดวงอาทิตย์ได้
สุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้ เป็นสุริยุปราคาลำดับที่ 30/71 ชุดซารอสที่ 139 เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 22:42 น. ของวันที่ 8 เมษายน 2567 ตามเวลาประเทศไทย แต่ในประเทศไทยไม่สามารถสังเกตเห็นได้ เงามืดของดวงจันทร์จะเริ่มสัมผัสพื้นโลกบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่เวลาประมาณ 23:39 น. ของวันที่ 8 เมษายน ตามเวลาประเทศไทย จากนั้นจะพาดผ่านประเทศแม็กซิโก สหรัฐอเมริกา แคนาดา และสิ้นสุดคราสเต็มดวงบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติก ในเวลาประมาณ 02:55 น. ของวันที่ 9 เมษายน ตามเวลาประเทศไทย (จุดที่เกิดคราสเต็มดวงนานที่สุดอยู่บริเวณเมืองนาซาส รัฐดูรังโก ประเทศเม็กซิโก ระยะเวลานานถึง 4 นาที 28 วินาที) และเงาของดวงจันทร์จะพ้นจากโลกโดยสมบูรณ์เวลาประมาณ 03:52 น. ของวันที่ 9 เมษายน ตามเวลาประเทศไทย
การเกิดปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญในครั้งนี้ ประเทศที่อยู่ในแนวคราส โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาตื่นตัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากชาวอเมริกันจำนวนหลายล้านคนจะได้ชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงอีกครั้ง หลังจากเกิดครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2560 นอกจากนี้ยังดึงดูดให้นักดาราศาสตร์และผู้สนใจจากทั่วโลกเดินทางมาชมปรากฏการณ์ครั้งนี้เป็นจำนวนมาก
สิ่งที่นักดาราศาสตร์สนใจศึกษา ได้แก่ โคโรนา ซึ่งเป็นส่วนนอกสุดของชั้นบรรยากาศดวงอาทิตย์ มองเห็นได้เฉพาะตอนเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงเท่านั้น ปรากฏการณ์ลูกปัดเบลีย์ ในช่วงก่อนและหลังเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง เพื่อเทียบเคียงลักษณะภูมิประเทศบนดวงจันทร์จาก และ ปรากฏการณ์ทางแสง ต่าง ๆ ในช่วงก่อนและหลังเกิดปรากฏการณ์ เป็นต้น NARIT มีกำหนดเดินทางไปศึกษาและเก็บข้อมูลปรากฏการณ์ ณ รัฐเทกซัส ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่จะสามารถสังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้ได้ และมีโอกาสสังเกตปรากฏการณ์ได้นานที่สุดถึง 4 นาที 21 วินาที สำหรับผู้สนใจติดตามการถ่ายทอดสดการเกิดปรากฏการณ์ได้ทางhttps://science.nasa.gov/.../future.../eclipse-2024/live/
ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 12 สิงหาคม 2569 ผ่านประเทศสเปน มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ประเทศไอซ์แลนด์ ประเทศกรีนแลนด์ บริเวณขั้วโลกเหนือ และบางส่วนของประเทศรัสเซีย
สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่สามารถสังเกตได้ในประเทศไทย จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 สิงหาคม 2570 เห็นเป็น ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน สังเกตได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ในช่วงเย็นก่อนดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ตั้งแต่เวลาประมาณ 17:54 - 18:45 น. ตามเวลาประเทศไทย ดวงอาทิตย์ถูกบังมากที่สุดบริเวณภาคใต้ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ประมาณร้อยละ 28 ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลปรากฏการณ์ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ทั้งนี้ ปรากฏการณ์สุริยุปราคาในวันที่ 8 เมษายน 2567 ไม่ได้ส่งผลต่อการเกิดลมสุริยะ หรือพายุสุริยะแต่อย่างได้ และยังไม่มีข้อมูลการแจ้งเตือนถึงพายุสุริยะจาก NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) ในวันดังกล่าว